เกรียงศักดิ์ เวฬุวนารักษ์ ชายผู้มีความสุขกับ 'วัตถุมีผล' มากกว่า 'วัตถุมงคล'

คนรักต้นไม้
นิยามของความสุขแบบโลกๆ ที่เราคุ้นชิน อาจใช้ไม่ได้เลยกับชายผู้นี้
 
เพราะความสุข..ที่หล่อเลี้ยงหัวใจของเขาในทุกวันที่ลืมตาตื่น คือการได้ส่งเสริมให้คนรอบข้างลุกขึ้นมาปลูกต้นไม้ในทุกรูปแบบ เขามักจะปรากฎตัวพร้อมรอยยิ้ม และย่ามคู่ใจ ที่ภายในมีเมล็ดพันธ์ุ พร้อมที่จะแจกเป็น “วัตถุมีผล” ให้กับทุกคนที่พบเจอ
.
ความรักในต้นไม้ของคุณเกรียงศักดิ์ เวฬุวนารักษ์ ก่อตัวตั้งแต่สมัยยังเป็นเณรน้อยที่วัดบ้านท่าลาด ต.นาโส่ อ.กุดชุม ในจังหวัดยโสธร ที่พระครูสุภาจารวัฒน์ พระนักพัฒนา (ผู้มีศักดิ์เป็นลุง) เป็นเจ้าอาวาส ยุคนั้นมีโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มาทำงานร่วมกับวัด เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพร และฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับชาวบ้าน สามเณรเกรียงจึงได้มีโอกาสช่วยทำงานเป็นลูกมือในการเก็บพืชสมุนไพรในป่าอยู่หลายปี เมื่อเติบโตขึ้น ความสนใจนี้ไม่ได้จางหาย แต่กลับเข้มข้นขึ้นตามกาลเวลา เขาจึงยังโลดแล่นอยู่ในแวดวงของสมุนไพร เรียนรู้ และสะสมความเชี่ยวชาญในการใช้สมุนไพร และเรื่องต้นไม้ จนชาวบ้านเรียกขานเค้าว่า..หมอเกรียง
 
“จากที่เราเคยเป็นเณรและพระ ก็รู้จักวิธีการทำบุญต่างๆ ส่วนมากชาวบ้านก็ทำบุญเป็นปัจจัย.. พอเรามาทำงานกับเครือข่ายปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ..ผมก็ได้ศึกษาแนวคิดเรื่องการทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้จากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แล้วก็นำมาถ่ายทอดผ่านงานบุญต่างๆ เพราะว่าคนอีสานมีงานบุญตลอด 12 เดือน ผมก็เลยมาปรับใช้” ไม่เพียงแต่สอดแทรกการให้ต้นไม้เข้าไปในทุกงานบุญ เขายังตั้งเป้าให้ “การปลูกต้นไม้” เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน
 
ทุกวันนี้ มีกิจกรรมสี่รูปแบบที่หมอเกรียงจัดอย่างสม่ำเสมอ
อย่างแรกคือ “การทำบุญด้วยต้นไม้” หรือการให้ต้นไม้ในงานบุญต่างๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช หรืองานทำบุญอุทิศส่วนกุศล กิจกรรมที่สอง เค้าให้ชื่อว่า “ต้นไม้แทนใจ” โดยการให้ต้นไม้เป็นของชำร่วย เช่น งานวันเกิด งานแต่ง หรือ งานเกษียณอายุราชการ ส่วนอันที่สาม คือ “เมล็ดพันธ์ุ เมล็ดบุญ” คือการแจกเมล็ดพันธ์ุให้คนได้นำไปปลูกในโอกาสต่างๆ ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์สายพันธ์ุไม้ด้วย และอันล่าสุดคือโรงทานต้นไม้ กับไอเดียการแจกต้นไม้แทนการแจกสิ่งของอื่นๆ และเค้ายินดีอย่างยิ่งหากมีคนนำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้กันมากๆ
.
ในช่วงแรก คนก็ไม่เข้าใจสิ่งที่เขาทำ แต่หลังจากเวลาผ่านไป เสียงตอบรับเริ่มกลับมา “หลายคนพอได้เจอ ก็มาเล่าให้ฟังว่าต้นพริกที่เอาไปออกลูกแล้วนะเยอะมาก มะละกอ ขนุน ก็ได้กินผลแล้ว ได้ฟังแล้วก็มีความสุข ..เหมือนกับคำที่พระอาจารย์ไพศาลว่า ก่อนให้จิตแจ่มใส หลังให้ใจเบิกบานนะครับ..เราและคนที่เอาไปปลูก ก็มีความเบิกบานใจร่วมกัน”
 
เราถามหมอเกรียงถึงต้นไม้ที่เขาชอบและรู้สึกผูกพันมากที่สุด “อบเชยครับ..สมัยที่ผมเริ่มทำงานสมุนไพรแรกๆ ทำยาธาตุอบเชย เป็นยาที่ทำให้คนเขารู้จักผมมาก อบเชยนี่ พอเราปลูกแล้วนี่เราได้แบ่งปัน ทั้งเมล็ดพันธุ์ ทั้งเปลือกเอาไปทำยา..ต้นก็ใหญ่ให้ร่มเงา มีกลิ่นหอมในตัว”
 
ปัจจุบัน นอกจากทำงานเพื่อชุมชนแล้ว เค้ายังเป็นเจ้าของและผู้ดูแลสวนป่าสุภาจาโร ขนาด 7 ไร่เศษ ที่เค้าเรียกว่าเป็น “สวนป่าเพื่อการเรียนรู้และแบ่งปัน” ปันกันปลูก ปันกันเพาะ(เมล็ด) ปันกันปรุง(อาหาร/ยา) และ ปันองค์ความรู้ และเขายังมีโครงการอีกมากมายที่อยากจะทำเกี่ยวกับต้นไม้ในอนาคต และที่ตั้งใจไว้คือ วิสาขบูชานี้ ก็คือการจัดกิจกรรมชวนนักเรียนมาบวชต้นไม้ในป่าชุมชน และงานเวียนเทียนด้วยต้นไม้ จะมีการตกแต่งเจดีย์ทรายด้วยต้นไม้ ( ดูเหมือนจะยังมีอีกหลากหลายไอเดียเกี่ยวกับต้นไม้ ที่เค้าคิดไว้และอยากทำ และเราจะเลือกมาเล่าให้ฟังในภายหลัง -แอดมิน)
 
ถ้าเราแปลงความสุขที่ได้รับเป็นกระแสเงินสดได้ ชายผู้นี้น่าจะเป็นคนที่รวยความสุข ระดับต้นๆ ของประเทศ เพราะมีกระแสความสุขไหลเข้ามาให้ใช้อย่างไม่ขาดมือ ในทุกๆ วัน