มูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ จับมือกรมป่าไม้ เดินหน้าพัฒนาโครงการนำร่อง ต่อยอด‘ทำบุญวิถีใหม่ เวียนเทียนด้วยต้นไม้ ลดฝุ่น’ ในอยุธยา"

หารือโครงการนำร่องที่อยูธยา

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 มูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ (มตธ.) นำโดยคณะทำงาน ได้เข้าพบนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ โดยมีนายพีรวัฒน์ ขาวบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้พระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ประสานงาน เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการดำเนินโครงการ “ทำบุญวิถีใหม่ เวียนเทียนด้วยต้นไม้ ลดฝุ่น” ซึ่งได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568

 

โครงการนำร่องสู่การสร้างพื้นที่สีเขียว

จากการหารือ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการพัฒนาโครงการนำร่องในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง วัด บ้าน โรงเรียน ศูนย์ป่าไม้ เทศบาล และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสร้างระบบที่เอื้อต่อการขยายพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน

โรงเรียนในพื้นที่จะมีการพัฒนาหลักสูตรให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การเพาะกล้าไม้ โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากครูป่าไม้ของศูนย์ป่าไม้ฯ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการเพาะกล้าไม้เพื่อส่งต่อให้กับวัดต่างๆ ที่จะจัดกิจกรรม เวียนเทียนด้วยต้นไม้ ลดฝุ่น ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งในวันมาฆบูชา ปี 2568 มีวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึง 30 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ และมีแนวโน้มจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต

 

ส่งเสริมกล้าไม้ที่ตรงกับความต้องการของชุมชน

กล้าไม้ที่นักเรียนเพาะเพื่อแจกในงานเวียนเทียน จะคัดเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เช่น ไม้ผล ไม้ดอก ผักยืนต้น และผักสวนครัว ซึ่งอยู่นอกกรอบของศูนย์ป่าไม้ฯ หรือศูนย์เพาะชำกล้าไม้ ที่จะเน้นเฉพาะไม้ป่า และไม้ยืนต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของครัวเรือน

ทางโรงเรียนและนักเรียน อาจได้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการเพาะกล้าไม้จากเทศบาล หรือธุรกิจภาคเอกชน รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ

 

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง: สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เยาวชนได้เรียนรู้

หากความร่วมมือนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ในการเพาะกล้าไม้ที่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างความผูกพันกับธรรมชาติและปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เยาวชนเกิดความภาคภูมิใจเมื่อได้ส่งต่อกล้าไม้ดังกล่าวไปยังวัด และวัดแจกให้ประชาชนที่มาเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ใช้เวียนเทียนแล้วนำกลับไปปลูกที่บ้านของตน ก็จะเป็นการขยายพื้นที่สีเขียว ลดฝุ่นในจังหวัดอยุธยา ทั้งยังเพิ่มอาหารและรายได้จากผลผลิตให้กับประชาชนที่นำต้นไม้ไปปลูกด้วย

กล้าไม้เหล่านี้ ยังสามารถนำไปสนับสนุนการสร้างพื้นที่สีเขียวในระดับอำเภอ หรือจังหวัดได้ ในกรณีที่มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของอำเภอและจังหวัดด้วย

 

“อยุธยาในวันข้างหน้า” – เมืองแห่งความร่มเย็นและยั่งยืน

ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เมืองพระนครศรีอยุธยามีแนวโน้มที่จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นและน่าอยู่ โดยมีนักเรียน เยาวชน และประชาชนทั่วไปเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนหลัก พร้อมได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง