ที่มาของ เวียนเทียนด้วยต้นไม้
พระพุทธเจ้าทรงประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ และปรินิพพานใต้ต้นไม้ ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญที่เหตุการณ์ดังกล่าวมีต้นไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะต้นไม้ให้ร่มเงาที่ร่มเย็น และให้ความสงบสงัดเกื้อกูลต่อกายและใจ สาเหตุที่พระองค์ตัดสินพระทัยบำเพ็ญเพียรที่อุรุเวลาเสนานิคมก็เพราะทรงเห็นว่า “ผืนแผ่นดินถิ่นนี้ รมณีย์จริงหนอ มีไพรสณฑ์ร่มรื่น น่าชื่นบาน ทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใส เย็นชื่นใจ” ใช่แต่เท่านั้นพระองค์ยังทรงเลือกประทับใต้ต้นไม้เพื่อทำความเพียร จนตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ
น่าสังเกตว่าพระพุทธเจ้า ๒๗ พระองค์ก่อนหน้านั้น ล้วนเลือกโคนไม้เป็นที่ประทับทำความเพียรจนตรัสรู้ อีกทั้งยังมีการพยากรณ์ว่าพระพุทธเจ้าในอนาคต คือพระศรีอริยเมตไตรย ก็จะตรัสรู้ใต้ต้นไม้เช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าต้นไม้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนาและชาวพุทธ
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่นวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันมาฆบูชา เป็นต้น นอกจากเป็นวันที่เรารำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์แล้ว ยังเป็นวันที่เราควรรำลึกถึงความสำคัญของต้นไม้ด้วย ดังนั้นควบคู่ไปกับการทำบุญด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาแล้ว เราควรช่วยกันปลูกต้นไม้ทั้งในวัดและสถานที่สาธารณะ รักษาและบำรุงสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นถิ่นรมณีย์ สมกับที่ “ถิ่นรมณีย์เป็นที่ตั้งต้นของพระพุทธศาสนา” ดังคำของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤติปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ฝุ่นควัน และมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนไทยเป็นอย่างมาก จนปัจจุบันรัฐบาลได้ยกระดับปัญหาเรื่องฝุ่นนี้ขึ้นเป็น‘วาระแห่งชาติ’ที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข ตลอดจนเรียกร้องการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันแก้ปัญหาในทุกมิติ ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจากหลายประการ และควรที่จะมีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการปลูกต้นไม้ช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ เนื่องด้วยต้นไม้มีคุณสมบัติในการช่วยเก็บกักฝุ่น เพราะลักษณะทางกายภาพของใบและลำต้น ถือเป็นเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างป่าหรือสร้างถิ่นรมณีย์เพิ่มมากขึ้น ย่อมมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างแน่นอน
เวียนเทียนด้วยต้นไม้ จึงถือเป็นการปฏิรูปพิธีกรรมดั้งเดิม สู่การสร้างพฤติกรรมใหม่ที่เหมาะกับโลกในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหามลภาวะ
เวียนเทียนด้วยต้นไม้ ไม่เพียงช่วยลดฝุ่นควันที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ แต่ยังช่วยลดขยะจากธูปเทียนจำนวนมหาศาลให้กับวัด และต้นกล้าที่ใช้เวียนเทียนนี้ เสร็จพิธีแล้วก็ให้ประชาชนนำไปปลูกในที่ดินของตนเองเพื่อเป็นสิริมงคล หรืออาจมอบให้กับทางวัดเพื่อปลูกเพิ่มพื้นที่สีเขียว ขยายถิ่นรมณีย์ให้แผ่กว้าง เกิดความร่มรื่นสมกับเป็นอาราม ส่งเสริมการพัฒนาจิตใจให้กับประชาชน ต้นไม้ยังช่วยคืนความสมดุลให้ระบบนิเวศน์ ช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่นพิษ ช่วยลดภาวะเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
มูลนิธิฯ เริ่มจัดให้มีการเวียนเทียนด้วยต้นไม้ ครั้งแรกในวันวิสาขบูชา ปี ๒๕๖๓ แต่เกิดการระบาดของ โควิด-19 เสียก่อน จึงต้องระงับการจัดงาน คงมีแต่วัดดาวเรือง ที่อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เพียงแห่งเดียว ที่จัดให้มีการเวียนเทียนด้วยต้นไม้ในปีนั้น ต่อมาในปี ๒๕๖๕ เมื่อสถานการณ์ของโควิด-19 เบาบางลงแล้ว จึงเริ่มเชิญชวนให้มีการเวียนเทียนด้วยต้นไม้อีกครั้ง ในวันวิสาขบูชาปีนั้น และต่อด้วยวันอาสาฬหบูชา ปรากฏว่ามีวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม ๗๐ แห่ง ร่วมจัดให้มีการเวียนเทียนด้วยต้นไม้ โดยมีวัดหลวงและวัดใหญ่ ๆ ร่วมด้วยดังนี้คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ (วัดโพธิ์) วัดอรุณราชวรารามฯ (วัดแจ้ง) วัดโมลีโลกยารามฯ วัดระฆังโฆสิตารามฯ วัดสามพระยา วัดพระราม๙ กาญจนาภิเษก วัดสุทธิวราราม วัดญาณเวศกวัน วัดจากแดง วัดสวนแก้ว และวัดสังฆทาน เป็นต้น
ปี ๒๕๖๖ ก็มีการจัดเวียนเทียนด้วยต้นไม้ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่อเนื่องมาอีก ทั้งวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา รวม ๓ วันสำคัญ โดยมีวัดร่วมจัดเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ เป็น ๙๗ แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้มูลนิธิฯ มีเป้าหมายที่จะขยายรูปแบบการเวียนเทียนด้วยต้นไม้นี้ให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ เพื่อให้กลายเป็นวิถีใหม่ของการเวียนเทียน ที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศไทย และเพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนไทย ทั้งกายและใจ
วัดที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเวียนเทียนด้วยต้นไม้ สามารถลงทะเบียนได้ที่นี่